วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550

บทวิเคราะห์ - การอ่านวรรณกรรมเชิงวิเคราะห์ วรรณกรรมบันเทิง

เรื่องย่อ
เรื่องมีอยู่ว่า แก้วเฮือน ได้ออกเดินทางตามพ่อทุนนะ และอามังคละแกะรอยไอ้ถ่าง เสือร้ายที่เข้ามาก่อกวนหมู่บ้านจนได้พบกับ เขี้ยวเสือไฟ พ่อแนะนำเธอเก็บไว้เป็นของวิเศษ
แต่หลังจากที่แก้วเฮือนได้เขี้ยวเสือไฟมา พ่อเธอก็เจ็บขา จนไม่สามารถเข้าป่าล่าสัตว์ได้ แม่ก็เริ่มเจ็บไข้เป็นระยะ และแม่ก็ยังโทษเธอว่าที่ครอบครัวเริ่มลำบาก เป็นเพราะเขี้ยวเสือไฟ
เขี้ยวเสือไฟ เป็นที่ต้องการของพ่อเลี้ยง เพื่อที่จะนำมาเป็นของขลังให้สมศักดิ์ลูกชาย โดยแลกเปลี่ยนกับการรักษาขาของทุนนะและหนี้สินที่บัวจันติดค้างไว้
หลังจากมังคละกลับมาจากป่า ก็เฝ้าสั่งสอนแก้วเฮือน ให้มีหัวใจเสือไฟและคำคง ให้มีกำลังเสือไฟ ในตัวเองโดยที่ไม่ต้องเพิ่งพาแต่เขี้ยวเสือไฟเพียงอย่างเดียว
อยู่มาวันหนึ่งสมศักดิ์ชกต่อยกับคำคง หางตั้งหมาของคำคงจึงกัดสมศักดิ์ พ่อเลี้ยงบอก
ทุนนะให้ตัดหัวไอ้หางตั้งเพื่อนำเอาไปตรวจว่าเป็นหมาบ้าหรือเปล่า คำคงจึงพาหางดาบหนีไปหามังคละอาของตน และชวนแก้วเฮือนไปด้วย ในขณะเดียวกันนั้นมังคละก็กำลังเดินทางมาหาทุนนะเพื่อบอก เรื่องไอ้ถ่าง กำลังหนีมาทางนี้
ระหว่างทางที่แก้วเฮือนและคำคงกำลังพาไอ้หางตั้งไปหามังคละนั้น ได้เจอกับไอ้ถ่างพอดีทั้งสองคนจึงหนี ขณะเดียวกันนั้น ทุนนะและมังคละก็รีบตามหาเด็กทั้งสองคนด้วยความเป็นห่วง
คำคงและแก้วเฮือนหนีขึ้นต้นไม้ ไอ้ถ่างไล่ตามตามมา หางตั้งสู้กับไอ้ถ่างเพื่อปกป้องเจ้านายทั้งสองคนจนไส้ทะลักก็ไม่ยอมถอย จนกระทั่งถูกไอ้ถ่างกัดหัวตาย แก้วเฮือนจึงใช้ลูกดอกนาคา ลูกดอกพิษที่มังคละเคยให้คำคงเก็บไว้ยิงใส่ไอ้ถ่างตาย ในที่สุดทุนนะและมังคละก็ตามมาทัน
แก้วเฮือนมั่นใจว่าที่ตนและคำคงรอดมาได้เป็นเพราะเขี้ยวเสือไฟ แต่เขี้ยวเสือไฟนั้นหลุดจากคอของแก้วเฮือนไปแล้วและมังคละตามเก็บมาคืนให้
สุดท้ายแก้วเฮือนก็เข้าใจว่าหัวใจเสือไฟคือสิ่งใด คำคงก็เข้าใจว่ากำลังเสือไฟเป็นอย่างไร และก็ยอมให้แม่เอา เขี้ยวเสือไฟไปปลดหนี้กับพ่อเลี้ยง ทุนนะก็หายเจ็บขา บัวจันก็หายจากการเจ็บออดแอด ครอบครัวก็เริ่มดีขึ้น
แก้วเฮือนก็เริ่มสนใจทำงานบ้านแต่ไม่ละทิ้งความต้องการเป็นพราน ส่วนคำคงก็เริ่มกล้าหาญขึ้น และจะไปสอบชิงทุนเรียนต่อเพื่อเป็นครูอย่างที่ตนฝัน

โครงเรื่อง
ของขลัง ความเชื่อ มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน แก้วเฮือนเด็กหญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยสาว บัวจันผู้เป็นแม่เกรงว่าของขลังอย่างเขี้ยวเสือไฟ จะทำให้ครอบครัวของตนเองพบกับความโชคร้าย

แก่นเรื่อง
1. ผู้แต่งได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเครื่องรางของขลังและผู้คนที่มีความเชื่อ ว่าแก่นแท้ของความศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวของเครื่องราง แต่อยู่ที่ตัวและหัวใจของมนุษย์นั่นเอง ยกตัวอย่างในตอนท้ายเรื่อง หลังจากที่แก้วเฮือนได้นำเขี้ยวเสือไฟไปมอบให้พ่อเลี้ยงคำแหลงเพื่อปลดหนี้ที่นาของครอบครัวตนเอง และพ่อเลี้ยงได้มอบเขี้ยวเสือไฟต่อให้สมศักดิ์บุตรชายของตน อยู่มาวันหนึ่งคำคงและสมศักดิ์ได้นัดต่อยกันโดยตัวสมศักดิ์มีความมั่นใจว่าตนเองจะชนะเพราะตนมีเขี้ยวเสือไฟและคำคงไม่เคยชกต่อยชนะตนเองเลย แต่ผลกลับเป็นเป็นคำคงที่ชนะเพราะคำคงได้รับการสั่งสอนจากมังคละผู้เป็นอาให้มีกำลังเป็นดั่งเสือไฟโดยไม่ต้องพึ่งเขี้ยวเสือไฟ
2. วัฒนธรรมของชาวบ้านที่แสดงให้เห็นถึงการบังคับและการป้องกันการเบี่ยงเบนทางเพศ โดย ชายต้องแสดงออกถึงความเป็นชาย หญิงต้องแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นหญิง โดยการหยิบยกเอาเครื่องรางของขลังอย่างเขี้ยวเสือไฟมาเป็นมาสาเหตุของการเบี่ยงเบน ยกตัวอย่างในตอนที่
แก้วเฮือนได้เขี้ยวเสือไฟเป็นเครื่องรางติดตัว บัวจันผู้เป็นแม่ มองว่าลูกสาวของตนทำตัวผิดเพศหลังจากได้เขี้ยวเสือไฟห้อยคอไม่ยอมทำงานบ้าน ชอบออกป่าล่าอาหาร กล้าหาญเกินหญิง ซึ่งตัวของแก้วเฮือนไม่ได้เปลี่ยนเพราะเขี้ยวเสือไฟ แต่แก้วเฮือนมีความต้องการที่จะดูแลครอบครัวของตน เพราะ ทุนนะผู้เป็นพ่อขาเจ็บ แม่ก็เจ็บป่วยออดแอด คำแก้วพี่สาวก็ขาลีบข้างหนึ่ง คำคงน้องชายคนเล็ก ก็ยังเป็นเด็กและไม่ชอบที่จะทำงานช่วยครอบครัว ทำให้บัวจันคอยดุด่าลูกสาวของตนเองอยู่เสมอทำให้แก้วเฮือนไม่พอใจ
ในตอนท้ายของเรื่องแก้วเฮือนก็ไม่ได้มีจิตใจที่จะผิดเพศแต่อย่างใด แต่ที่แก้วเฮือนอยากเป็นพราน เพราะคำคงน้องชายก็อยากเรียนต่อเพื่อเป็นครู พี่สาวก็คอยทำงานบ้านช่วยแม่อยู่แล้ว ตนเองจะได้ช่วยพ่อออกป่าหาอาหาร และสืบทอดสายเลือดความเป็นพรานของครอบครัวตนเองอีกด้วย

ตัวละครที่สำคัญ
แก้วเฮือน สาวน้อยที่เป็นตัวเอกของเรื่อง นิสัยมีความกล้าหาญเกินหญิง มีจิตใจที่ไม่ยอมแพ้แก่สิ่งรอบข้าง และเป็นตัวละครที่มีเครื่องรางเขี้ยวเสือไฟ มีความต้องการที่จะเป็นพรานเพื่อสืบทอดต่อจากพ่อและบรรพบุรุษ
คำคง น้องชายของแก้วเฮือน ในตอนต้นเรื่องมีนิสัยขี้ขลาด มักหาข้ออ้างแก้ตัวในเรื่องที่ตนเองทำไม่ได้ ตอนท้ายเรื่องเริ่มมีความกล้าหาญ มีความฝันอยากเป็นครู
มังคละ อาของแก้วเฮือนและคำคง เป็นพรานสมัยใหม่ที่เห็นโลกภายนอก มักใช้ความรู้ตัดสินเหตุการณ์ แต่ไม่ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชอบออกผจญป่า ในเรื่องเป็นคนที่สอนเรื่อง กำลังเสือไฟให้แก่คำคง และหัวใจเสือไฟให้แก้วเฮือน เป็นผู้ที่เข้าใจแก่นแท้ ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องรางนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวของเครื่องราง แต่อยู่ที่จิตใจคนใช้มากกว่า
ทุนนะ พ่อของแก้วเฮือนและคำคง เป็นพรานป่าที่ยึดมั่นในความเชื่อ และความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องราง มีความรอบรู้เรื่องต่างๆ และมักใช้ภูมิปัญญาแบบพรานโบราณตัดสินเหตุการณ์
บัวจัน แม่ของแก้วเฮือนและคำคง เป็นตัวละครที่ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องรางในเรื่องมีจริง

1 ความคิดเห็น:

Gan's blog กล่าวว่า...

ขอบคุณมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกได้ประโยชน์เยอะมากเลยที่โรงเรียนก็มีสอบเรื่องนี้อ่านแล้วเข้าใจเยอะเลย