วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550

บทวิเคราะห์ - วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง “ ทวาร..ยังหวานอยู่ ”

เรื่องย่อ

ทวารยังหวานอยู่ เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ของ 2 สำนักกลองคือ สำนักกลองเทวดา และสำนักกลองพญายม ที่ต้องมาต่อสู้กันทุก 10 ปี จนมาถึงรุ่นของ เบ๊ ก่อนถึงวันประลอง เบ๊ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของ เจ๊วิก เจ้าของห้องเช่า และถูกตำรวจตามล่าในฐานะฆาตกร เบ๊จึงไปขอความช่วยเหลือจาก ต้น ศิษย์พี่ร่วมสำนักกลองเทวดา ในระหว่างการหนีทั้งเบ๊และต้นก็ได้พบกับเรื่องวุ่นๆมากมาย จนถึงวันประลอง เบ๊ ถูก ต้น หักหลัง พร้อมทั้งได้รู้ว่าความจริงว่า
เจ๊วิก ยังไม่ตาย และทั้งหมดเป็นแผนของ เจ๊วิก ที่ไม่ต้องการให้ เบ๊ มาประลอง เพราะตัวแทนของสำนักกลองพญายมคือ เดวิด คนรักของเจ๊วิก

ทฤษฎี หลังสมัยใหม่ (Postmodern Theory )

ทฤษฎี หลังสมัยใหม่ (Postmodern Theory ) เป็นแนวคิดที่ยากทีจะนิยามให้ชัดเจน เพราะเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในความหลากหลายของสาขาวิชา มันมีความคลุมเครือและไม่แน่นอน เป็นการปฏิเสธการจำแนกอย่างชัดเจน มีลักษณะเปิดกว้างทางความคิด ไม่ต่อเนื่อง เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ต่อต้านการตีความ ไร้โครงสร้าง และเน้นการล้อเลียน

บทวิเคราะห์

เนื่องจากการวิเคราะห์ตามทฤษฎีหลังสมัยใหม่ (Postmodern Theory ) ไม่มีรูปแบบตายตัวผู้จัดทำจึงขอวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง “ทวารยังหวาน” อยู่ตามหัวข้อดังนี้
1. ปฏิเสธความมีอยู่ของผู้แต่ง
2. ปฏิเสธประวัติศาสตร์ แต่โหยหาอดีต
3. ปฏิเสธโครงสร้าง และการจัดลำดับ
4. การคลุกเคล้า หรือ การยำใหญ่ ( eclectic )
5. การ “ไม่มีอะไรอยู่ในตัวบท” สร้างให้คนดูคิดเอง



1. ปฏิเสธความมีอยู่ของผู้แต่ง
ตามแนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่ (Postmodern Theory ) คือ ตัวบทไม่มีไม่มี
ขอบเขตอันแน่ชัด ไม่มีรูปแบบชัดเจน ไม่มีอะไรเป็นของผู้แต่ง ไม่มีความเป็นต้นฉบับ แต่ทุกอย่างสามารถลอกแบบได้ เช่น
- ตอนเปิดเรื่องที่มีตัวหนังสือขึ้นมานำเรื่อง พร้อมเสียงดนตรี ทั้งหมดนั้นมีการลอกแบบการนำเรื่องจากภาพยนตร์เรื่อง STAR WAR
- ก่อนที่เบ๊ตีกลองเทวดาเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้ฆ่าใครแล้วมีนกออกมาจากหัว เป็นการลอกแบบมาจากโฆษณาของ วัน-ทู-คอล

2. ปฏิเสธประวัติศาสตร์ แต่โหยหาอดีต
เป็นการคิดถึงอดีต นำเรื่องในอดีตมาเล่าแต่อดีตนั้นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ หากเป็น
การนำประวัติศาสตร์มาล้อเลียน เช่น
- ก่อนเปิดตัวเบ๊ ตัวเอกของเรื่อง เป็นการเล่าเรื่องย้อนอดีต จากมีคนดูข่าวเรื่องไข้หวัดนกจากมือถือ ตามด้วยข่าวการจัดตั้งรัฐบาลของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ผ่านโทรทัศน์สีติดผนัง การแถลงข่าวค่าเงินบาทลอยตัวในสมัยนายก ชวลิต ยงใจยุทธ ผ่านโทรทัศน์สีจอแบน มิวสิกวีดีโอเพลง เก็บตะวัน ของ อิทธิ พลางกูล ผ่านโทรทัศน์สีแบบใช้รีโมท ข่าวการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปีผ่านโทรทัศน์ขาวดำ ในห้องนั้นมีคนเล่นระนาด และเบ๊ตีกลองอยู่ที่ห้องติดกัน
- ตอนที่เบ๊นึกถึงตอนเรียนตีกลองในสำนักกลองเทวดา อาจารย์ใส่ชุดแบบจอมยุทธในหนังกำลังภายใน แต่เบ๊และต้นกลับสวมชุดแบบ บรูชลี ดาราหนังกังฟูสมัยใหม่
- การล้อเลียน พระยันตระ ก่อนออกบวชเป็นตอนที่ เบ๊ พูดเกลี้ยกล่อมนาย วินัย เพื่อไม่ให้ฆ่าตัวตาย และเบ๊แนะนำให้นายวินัยไปบวชที่วัดลิเจีย แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อ ยันตระ ( แต่ใน ฉบับของวีดีโอซีดี ได้ถูกตัดออกไป ) แล้วเป็นภาพของนายวินัยห่มจีวรสีเขียว
- การล้อเลียน พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในสมัยที่เปิดโรงหนัง เป็นตอนที่รถฉายหนังขี่มารับเบ๊แล้ว ขอโทษที่ตนนั้นมาช้าแล้วพูดว่า “ ผมบกพร่องก็จริง แต่ผมสุจริต ” และมีอีกหลายตอนที่เป็นการล้อเลียน ไม่ว่าจะเป็น การตั้งชื่อพรรคการเมือง ท่าทางที่ใช้ในการหาเสียง (สมัยก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี) รวมทั้งความคิดที่จะขายโทรศัพท์มือถือ
3. ปฏิเสธโครงสร้าง และการจัดลำดับ
คือ การไม่ให้ความสำคัญในการจัดลำดับเรื่อง แต่ละตอนอาจไม่เกี่ยวเนื่องกันใน เชิงเวลา ยกตัวอย่าง เช่น
- ในตอนที่เบ๊วิ่งหนีออกจากห้องไป นายเบ๊ไปพบกล่องบริจาคของกองทุน หนังไทย แล้วนายเบ๊ก็ร่วมบริจาค ไป กองทุนหนังไทยเริ่มตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 แต่ใน ภาพยนตร์เรื่อง “ทวาร..ยังหวานอยู่” เป็นภาพยนตร์ย้อนยุคอยู่ในปี พ.ศ. 2525
- ตอนที่สุนัขตำรวจที่ชื่อ ซื่อบื้อ จมน้ำตาย สารวัตร หูดำ ซึ่งเป็นเจ้าของได้เล่า ย้อนอดีตให้ลูกน้องของตนเองฟังว่า เจ้าซื่อบื้อ เป็นสุนัขของภรรยาเก่าของตนทิ้งไว้ให้ก่อนเลิกกัน เพราะเป็นสุนัขอาถรรพ์ คู่ไหนเลี้ยงก็เลิกกันหมด แล้วมีภาพของดาราสาวคนหนึ่งชูตุ๊กตาหมาที่ตั้งชื่อให้ว่า ซื่อบื้อ ในตอนแถลงข่าวว่าตนคบกันกับนักเทนนิสมือหนึ่งของเมืองไทย
- ในตอนท้ายเรื่องการเปลี่ยนชื่อวงดนตรีของ ต้น จากวงดนตรีที่ชื่อ พีซี มาเป็นแมคอินทอช ด้วยความคิดของหมี ที่เห็นต้นกัดลูกแอปเปิ้ล (พีซี (PC) เป็นชื่อเรียกของเครื่อง Computer แบบตั้งโต๊ะ แมคอินทอช (Mc Intosh) เป็นเครื่อง Computer ทีใช้ในการทำกราฟฟิก มีโลโก้คือรูปแอปเปิ้ลถูกกัด)

4. การคลุกเคล้า หรือ การยำใหญ่ ( eclectic )
คือ การนำเอาหลากหลาย กาละเทศะ ยุคสมัย วัฒนธรรมมาผสมผสานกัน ยกตัวอย่าง เช่น
- ในตอนเริ่มต้นเรื่องตอนที่เบ๊วิ่งผ่านขบวนแห่สิงโตมานั้นในขบวนแห่ มี
คนแต่ตัวเป็นอุลตร้าแมนด้วย
- การดวลกลองของสำนักกลองเทวดาและสำนักกลองพญายมในอดีตที่มี
อาจารย์ของเบ๊เป็นตัวแทนของสำนักกลองเทวดา และริงโกสตาร์ (มือกลองของวง เดอะ บีทเทิล) เป็นตัวแทนของสำนักกลองพญายม
- การทำระเบิดของเหมียว และอู๋ ในตอนที่ จะช่วยเบ๊และต้นแหกคุก ด้วยการกระทำแบบไสยศาสตร์แต่กลับมีการใช้ขี้กบแบบกระป๋อง
- ตอนขอนั่งรถไปตามหาเจ๊วิก เบ๊เป็นหวัดจามใส่ไก่ แล้วไก่พวกนั้นกลายเป็นหวัด เป็นที่มาของไข้หวัดนก และยังมีทั้งคนที่แต่งตัวเป็น นางเอกหนังฮอลิวูด นักร้องเพลงร็อกชื่อดังของเมืองไทยยุคปัจจุบัน นักรบหญิงไทยในอดีต มาทาดอร์ ฯลฯ.
5. การ “ไม่มีอะไรอยู่ในตัวบท” สร้างให้คนดูคิดเอง
คือ การที่ตัวบทไม่มีขอบเขตที่แน่ชัด ไม่มีต้นแบบ แต่ปรากฏการณ์ทุกอย่างมี
ความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ (sine) หรือกิริยาท่าทาง ใช้แทนความหมาย และสามารถให้คนดูคิดเอาเองได้ เช่น
- ในตอนต้นเรื่องที่เป็นการแนะนำทีมงานสร้างภาพยนตร์ มีการใช้สัญลักษณ์แทนความหมายหลายตอน ไม่ว่าจะเป็นตอน เบ๊ใช้ที่บดปลาหมึกบดฟิล์ม สื่อแทนคำว่า “บทภาพยนตร์” , ป้ายชื่อของทีมงาน MUSIC SCORE ที่มีชื่อว่า “แสน-แสบ” อยู่ในท่อระบายน้ำ, ผู้กำกับ
ภาพยนตร์ยืนกำกรับ ฯลฯ
- การเล่นคำในภาพยนตร์ ยกตัวอย่าง เช่น ป้ายบอก “ทางหนี- ทีไล่” แล้วเบ๊
เลือกวิ่งไปที่ทางหนี, ตั้งสติ ที่เบ๊เอาคำว่า “สติ” มาตั้ง, ต้นบอกว่า “ฉันขอร้องล่ะ” แล้วมีไมโครโฟนมาจ่อที่หน้าต้น, เบ๊บอกกับเหมียวและอู๋ว่าเขาฆ่าใตรไม่ได้เพราะตัวเขาเองถือศีลห้าอยู่ และในมือเบ๊ก็ถือคำว่า “ศีล 5” ฯลฯ
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ ภาพยนตร์เรื่อง “ ทวาร..ยังหวานอยู่ ” ตามทฤษฎี หลังสมัยใหม่ (Postmodern Theory) แต่เนื่องจาก ทฤษฎี หลังสมัยใหม่ นั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัวจึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ทั้งหมดได้

ไม่มีความคิดเห็น: