วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550

บทความ - เสี้ยวชีวิตหนึ่งในอดีต ของเด็กชายใกล้หน้าต่าง

"โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง" เป็นเรื่องราวในวัยเยาว์ช่วงเรียนประถมศึกษาของนักแสดงสาวชาวญี่ปุ่น ของบริษัท NHK บริษัทโทรทัศน์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ซึ่งเธอบอกเล่าถึงเรื่องเกี่ยวกับความซุกซนของเธอ เรื่องราวขึ้นเมื่อเธอ ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเมื่ออยู่เพียงชั้นประถมปีที่หนึ่ง แล้วได้เข้าสู่โรงเรียนแห่งใหม่ โรงเรียนประถมศึกษาโทโมเอ ได้พบกับคุณครูใหญ่ที่แสนดี ความประทับใจที่มีต่อคุณครูและเพื่อนๆ ที่โรงเรียน โดยเฉพาะการดูแลนักเรียนของคุณครูที่เต็มไปด้วยความรัก ความเอาใจใส่ต่อลูกศิษย์และเทคนิควิธีการสอนที่มุ่งให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติและความถนัดของแต่ละคน ไม่เน้นให้เรียนแบบท่องจำให้ผู้อ่านทั่วไปได้รับรู้
วรรณกรรมเด็กเรื่องนี้ หลังจากที่ผมได้อ่านแล้วรู้สึกถึงความใส่ใจในการเรียนรู้เด็ก จากคุณครูและครูใหญ่ หากในเมืองไทยมีโรงเรียนที่คุณครูที่ใส่ใจกับนักเรียนได้เช่นนี้แล้วล่ะก็ เด็กไทยคงจะมีความรักต่อโรงเรียน ครูบาอาจารย์ และเพื่อนๆ ดีกว่านี้แน่
เพราะอะไรน่ะเหรอ เท่าที่ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการออกแบบสำรวจ ที่ได้ทำการสำรวจประชาชนและนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเกี่ยวกับความประทับใจต่อโรงเรียนในอดีต คุณเชื่อไหมว่า เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็น เมื่อถามถึงความประทับใจต่อโรงเรียนในอดีตแล้ว คนทั่วไปนึกถึงอะไร อาจจะไม่ใช่อย่างที่คุณคิดก็ได้ “เพื่อน” ครับเพื่อน ที่คนส่วนใหญ่คิดถึงและประทับใจ
ส่วนอันดับสอง ได้แก่โรงเรียน อันดับสุดท้ายที่คนทั่วไปประทับใจ ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็น คือ “คุณครู” น่าตกใจไหมครับกับแบบสำรวจอันนี้
และมากกว่าแปดสิบเปอร์เซ็น ที่คนส่วนใหญ่ประทับใจคือ โรงเรียนระดับมัธยมปลาย มีไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นที่คนส่วนใหญ่จะประทับใจในโรงเรียนระดับประถม
หากกล่าวถึงแบบสำรวจนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนส่วนน้อยทันที เพราะความประทับใจที่ในโรงเรียนจนถึงทุกวันนี้ก็คือ คุณครูตอนที่ผมเรียนสมัยผมเรียนในระดับชั้นประถม
แม้ว่าตอนสมัยประถมผมย้ายโรงเรียนสมัยประถมบ่อย เหมือนโตีะโตะจัง แต่ความรู้สึกประทับใจนี้ยังคงมีต่อผมจนถึงทุกวันนี้
สมัยประถม ผมเรียนที่โรงเรียนบ้านนอกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ผมไปโรงเรียนตั้งแต่อายุสี่ขวบ ผู้อ่านคงแปลกใจใช่ไหมครับว่าทำไมผมไปโรงเรียนตั้งแต่อายุเพียงเท่านั้น
แม่ผมเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนั้น และบ้านก็อยู่ใกล้โรงเรียน ก็เป็นธรรมดาที่เด็กๆ อยากอยู่ใกล้แม่ของตัวเอง ผมเลยแอบหนียายไปหาแม่ที่โรงเรียนประจำ
ผมลืมบอกไปครับว่าตอนผมเป็นเด็ก คุณยายทวดของผมแกคอยดูแลผมตอนที่พ่อแม่ออกไปทำงาน
พอผมหนีไปที่โรงเรียนทีไร แม่ผมจะตีผมและพาผมกลับบ้านทุกที ผมก็ร้องไห้ประจำตามประสาเด็ก
แต่มีอยู่วันหนึ่ง คุณครูสมดี แสงจันทร์ ผมยังจำชื่อและนามสกุลของครูคนแรกของผมได้จนถึงทุกวันนี้ ครูสมดีแกเป็นครูที่ทำงานที่โรงเรียนเดียวกับแม่ของผม วันนั้นผมก็แอบหนียายไปตามเคย และผมก็ถูกตีเหมือนเคย แต่วันนั้นแกคงสงสารผมกระมังผมก็ไม่แน่ใจแต่ผมคิดว่าคงเป็นอย่างนั้นแหละ
แกบอกว่ากับแม่ผมว่าไม่ต้องไล่ผมกลับบ้าน ให้ผมเข้าไปเรียนที่ชั้นปอหนึ่งกับแก แล้วผมก็เข้าไปเรียนที่ชั้นปอหนึ่งตั้งแต่ตอนนั้น ตอนผมอายุสี่ขวบ
ผมลืมอธิบายอะไรเกี่ยวกับโรงเรียนนี้ไป คือเท่าที่ผมจำได้ มีครูที่สอนในโรงเรียนนี้เพียง เจ็ดท่านรวมแม่ของผมด้วย ครูที่นี่จะใช้วิธีเวียนกันสอนในแต่ละวิชา ไม่มีอาจารย์ประจำชั้น ส่วนนักเรียนมีเยอะเท่าไหร่ผมจำไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ตอนที่ผมเรียนอยู่ในห้องปอหนึ่งนั้นมีนักเรียนแค่ สิบสองคนเท่านั้นเอง ตอนนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองเหมือนโต๊ะโตะจังครับ
ผมชอบวิธีการสอนของครูสมดีมาก พอถึงชั่วโมงภาษาไทยซึ่งแกเป็นครูประจำวิชานี้ แกจะพานักเรียนลงจากห้องไปรวมกันที่ร่มไม้ แล้วให้นักเรียนหัดเขียนตัวหนังสือบนพื้นดินใต้ร่มไม้นั่นแหละ โดยครูสมดีแกจะยกบัตรคำขึ้นมา แล้วให้นักเรียนอ่าน
ส่วนวิธีการอ่านผมจะอธิบายให้รู้นะครับ คือยกตัวอย่างว่า ครูสมดียกคำว่า “กา” ขึ้นมา แกจะชี้ที่ตัว “ก” แล้วถามก่อนว่า
“ตัวนี้ตัวอะไร”
“กอไก่” พวกผมตอบพร้อมกันเสียงดัง
“ออกเสียงว่าอะไร” แกถามต่อ
“กอ” พวกผมตอบพร้อมกันเสียงดังอีก
แล้วแกจะชี้ที่ตัวสระอาแล้วถามว่า “ตัวนี้ตัวอะไร”
“สระอา” พวกผมตอบพร้อมกันเสียงดังอีกครั้ง
“ออกเสียงว่า” แกถามต่อ
“อา” พวกผมตอบพร้อมกันเสียงดังอีกครั้งหนึ่ง
“รวมกันแล้ว...อ่านว่า”
แล้วพวกผมก็จะตอบว่า “กอ..อา..กา” แต่คราวนี้ไม่ค่อยพร้อมกัน และเสียงเหมือนขาดๆหายๆ
พออ่านเสร็จแล้ว ครูสมดีจะเก็บบัตรคำ แล้วให้เขียนพวกผมเขียนที่เพิ่งอ่านไป พื้นดินตรงหน้าของแต่ละคน แล้วแกก็เดินตรวจทุกคน พอตรวจครบทุกคนและเขียนถูกทุกคนแล้วแกก็จะยกบัตรคำใหม่ออกมาทำอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าบางทีเห็นว่าเด็กเบื่อแกก็จะเล่านิทานให้เด็กฟัง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องในวรรณคดีไทย หรือไม่ก็มีนิทานอีสป และครูจะย้ำให้คติสอนใจนักเรียนในตอนจบของนิทานทุกๆ เรื่องอยู่เสมอ
และคุณครูอีกท่านที่ผมจำได้ก็คือ คุณครูทองสุข ชินฝั่น เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์แกมีวิธีการสอนเลขที่แปลกมากสำหรับผมในตอนนั้น
ตอนแรกที่เรียนแกจะให้นักเรียนทุกคนนับ หนึ่งถึงหนึ่งร้อยโดยให้นักเรียนนับนิ้วไปด้วยให้ได้ซะก่อนในชั่วโมงแรกๆ จนนักเรียนท่องได้ทุกคน ชั่วโมงต่อมาแกก็สอนบวกเลข ยกตัวอย่างว่า 5 + 2 แกจะบอกว่า
“นับห้าเอาไว้ในใจ แล้วนับนิ้วต่อไปอีกสองนิ้ว” แล้วแกจะให้พวกผมนับต่อกัน
“หก..เจ็ด” พวกผมนับนิ้วไปด้วย และตอบไปด้วย
เมื่อพวกผมนับนิ้วบวกเลขได้ ลบเลขได้แล้วแกถึงจะสอนวิธีตามหลักสูตรปอหนึ่ง และในตอนสอบประจำเทอม ผมไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นเพื่อนๆ หลายคนนั่งนับนิ้วไปแล้วบ่นพึมพำไปด้วย
การสอนของครูสมดี และครูทองสุข ผมว่าเป็นการสอนที่เข้าถึงจิตใจนักเรียน ครูคงอยากสอนให้นักเรียนของครูได้รับความรู้ ทั้งยังให้ความสนุกสนานแก่นักเรียน
นี่แหละครับความประทับใจต่อโรงเรียนเดิมในอดีตของผม
ส่วนที่ผมว่าชีวิตผมคล้ายโต๊ะโตะจัง คงเป็นเพราะผมย้ายโรงเรียนบ่อย ที่ย้ายบ่อยไม่ใช่ถูกไล่ออกนะครับ แต่เป็นเพราะพ่ออยากให้ผมเข้าโรงเรียนดีๆ แต่พอผมเข้าชั้นปอสาม พ่อก็ให้ผมย้ายโรงเรียนครั้งแรกเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ
ลืมบอกไปว่าผมเข้าเรียนตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้นะครับ ผมเรียนชั้นปอหนึ่งจาก 4 ขวบ จนถึง 7 ขวบ พอ 8 ขวบถึงได้เลื่อนขึ้นชั้นปอสอง
จากนั้นพอถึงปอห้า ผมก็ย้ายเข้าไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด และครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดนี้ ผมมีความทรงจำที่แย่มากต่อโรงเรียนและครูบาอาจารย์ ผมไม่บอกแล้วกันว่าทำไมถึงทำให้ผมรู้สึกเกลียดได้ขนาดนั้นแต่แอบแง้มเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ผมรู้ว่าผมไม่ผิด คืออาจารย์ที่โรงเรียนรับบริจาคเงินจากผู้ปกครองนักเรียนโดยอาจารย์จะเอาซองสีขาวมาแจกนักเรียนบางคน ขอย้ำนะครับแค่บางคน และผมก็เป็นเด็กผู้โชคร้ายคนนั้นด้วย
หลังจากผมได้ซองขาวนั่น ผมถือซองกลับบ้าน และวางไว้บนโต๊ะเพราะพ่อกับแม่มีแขกและผมไม่อยากกวนท่าน ผมแปลกใจกับการขอบริจาคของโรงเรียนนี้มาก พอตอนเช้าผมก็ลืมถือซองมาโรงเรียนด้วย ผมโดนอาจารย์ด่า ไม่ใช่ด่าธรรมดานะครับ โดนด่าประจานต่อหน้าเพื่อนทุกคนในห้อง ตอนนั้นผมรู้สึกผิดมากที่ไม่ได้ถือซองขาวเจ้าปัญหามาด้วย แต่พอตอนนี้ผมเริ่มรู้แล้วว่าผมไม่ผิด เพราะพวกคุณขอบริจาค ผมจะให้หรือไม่ก็ได้ มันก็เรื่องของผม
มันยังไม่จบแค่นั้น พอกลับบ้านไปผมพูดเรื่องซองบริจาคกับพ่อแม่แต่ไม่ได้เล่าเรื่องถูกด่าให้ฟัง เช้าวันต่อมาผมถือซองมาด้วย ตอนแรกอาจารย์ยิ้มแป้น พูดซะหวานหู แต่พอเปิดดูข้างในซองแล้วหน้าตากับเปลี่ยน คำพูดจากลับเปลี่ยนทันที หลังเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จ ผมถูกผู้อำนวยการเรียกพบ พอเข้าไป บรรยากาศรอบข้างผมรู้สึกถึงความกดดันอย่างมาก ในห้องนั้นมีอาจารย์ประมาณ สิบคนมีอาจารย์ประจำชั้นผมด้วย
พอผมเข้าไปในห้องนั้น ทุกคนมองมาที่ผม รองผู้อำนวยการสั่งให้ผมคุกเข่าลงแล้วบังคับให้ผมก้มลงกราบขอโทษ แต่ตอนนั้นผมงง ผมทำผิดอะไรตัวผมยังไม่รู้เลย ผมได้แต่หันไปรอบๆตัว เพื่อหาที่พึ่ง ก็เป็นธรรมดาของนักเรียนชั้นปอห้า ไม่รู้ว่าตัวเองผิดอะไร และพยายามหาที่พึ่งแต่สายตาของอาจารย์รอบตัวผมเหมือนนางยักษ์ที่จ้องคอยจะกินเลือดกินเนื้อผมไม่มีผิด
ผมร้องไห้แต่ก็ก้มลงกราบโดยไม่รู้ความผิดตัวเอง และผมมารู้ความจริงในตอนที่อาจารย์ประจำชั้นมาด่าประจานผมอีกรอบห้องเรียน ว่าผมเป็นไอ้คนจอมโกหก จอมหลอกลวง เรื่องคือ ตอนที่อาจารย์ให้ซองมา อาจารย์บอกว่าขอบริจาคซักห้าร้อย และผมก็คิดว่าหนังสือในซองสีขาวซองนั้นคงบอกรายละเอียดไว้ด้วยเพราะผมไม่ได้พูดเรื่องอาจารย์ขอรับเงินบริจาคห้าร้อย แต่เนื้อความในหนังสือฉบับนั้นกลับบอกว่าขอรับบริจาคตามจิตศรัทธาของผู้ปกครอง แม่ผมก็ใส่ซองสามร้อย และจำนวนเงินสามร้อยในตอน ปี พ.ศ. 2532 ก็ถือว่ามากโขพอสมควร ผมถูกหาว่าเป็นจอมลวงโลกว่าผมโกหกอาจารย์ ทั้งที่ผมไม่ได้รับปากซะหน่อยว่าจะให้เงินบริจาคห้าร้อย และอีกอย่างเงินนั้นก็เป็นของพ่อแม่ผม ทั้งหนังสือก็บอกว่าบริจาคตามจิตศรัทธา แล้วผมกลายเป็นจอมลวงโลกเพราะแม่ผมบริจาคเงินให้ทางโรงเรียนน้อยกว่าเพื่อนคนอื่นๆ
ถึงผมบอกชื่อโรงเรียนไม่ได้ แต่โรงเรียนประถมแห่งนั้นตั้งอยู่บนถนนหมากแข้งครับ และขอย้ำว่าเป็นโรงเรียนระดับประถมหนึ่งถึงหก ไม่ใช่โรงเรียนที่ขยายโอกาสถึงมอสามและไม่ใช่โรงเรียนที่มีชื่อเดียวกับชื่อถนนนะครับ บนถนนนั้นมีโรงเรียนเดียวครับ
นอกเรื่องมาซะไกล กลับเข้าสู่เรื่องราวหลักกันดีกว่าครับ เรื่องความประทับใจในโรงเรียนในอดีต ผมมีความเห็นว่า คุโรยานางิ เท็ตสึโกะหรือโต๊ะโตะจัง คงมีความประทับใจในโรงเรียน
โทโมเอ โรงเรียนระดับชั้นประถมของเธอมากแน่นอน ผู้ที่อ่านเรื่อง “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” จะสามารถรับรู้ได้จากรายละเอียดปลีกย่อยที่เราเห็นผ่านตัวอักษรในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพทั่วไปของโรงเรียน ที่ห้องเรียนเป็นตู้รถไฟ หรือว่ามีสระน้ำ หรือว่าจะเป็นระยะทางจากบ้านของโต๊ะโตะจังถึงโรงเรียนว่ามีอะไรบ้าง หรือว่าโรงเรียนอยู่ใกล้ที่ไหน ลักษณะนิสัยของครู และครูใหญ่ในโรงเรียน รวมถึงการสอนและเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียนแห่งนี้ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะได้อธิบายได้อย่าละเอียดถี่ถ้วนเพียงใด
หลังจากอ่านเรื่อง “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” จบผมมีความรู้สึกคิดถึงโรงเรียนชั้นประถมของผมทั้งสามโรงเรียน โดยเฉพาะความประทับใจที่ผมมีต่อ คุณครู สมดี แสงจันทร์และคุณครู ทองสา ชินฝั่น ในลักษณะการสอนของท่านทั้งสองและการเรียนรู้ของเพื่อนๆในห้องของผม
มีอยู่บ่อยครั้งที่ผมกลับไปที่โรงเรียนแห่งนั้น และได้พบเจอกับครูสมดี ท่านยังสอนนักเรียนแบบที่ผมเคยเรียนกับท่านอยู่เช่นเคย แต่ร่มไม้ที่ผมและเพื่อนเคยได้นั่งเล่น นั่งเรียนแห่งนั้นได้หายไป และห้องเรียนก็เปลี่ยนสภาพจากอาคารไม้เป็นคอนกรีตก็ตาม แต่ความรักและความประทับใจที่มีต่ออาจารย์ทั้งสองท่านของผมยังมีอยู่ในความทรงจำไม่เสื่อมคลาย
หากเปรียบเทียบเรื่องความน่าสนใจในวรรณกรรมเรื่องนี้แล้วผมบอกได้เลยว่า ตอนที่ผมอ่านในแต่ละตอนแล้ว ภาพความทรงจำในอดีตที่จางหายไปของผมได้กลับเข้ามาอีกครั้ง แม้ว่าในตอนนี้คุณครูทองสา จะไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้วแต่วิธีการนับเลขที่ท่านเคยสอน ผมก็ยังใช้มาจนทุกวันนี้
ลองหาวรรณกรรมเรื่องนี้มาอ่านดูนะครับ ภาพความทรงจำที่เคยเลือนรางไปของท่านอาจจะย้อนกลับมาอีกครั้ง แม้ว่ามันจะเป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีเท่าไรก็ตาม พยายามเก็บรายละเอียดเฉพาะความทรงจำที่ดีนี้ไว้ แล้วลองดูว่าคุณจะนึกถึงใครเป็นอันดับแรก เมื่อนึกถึงโรงเรียนในอดีต ท่านจะเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ หรือคนส่วนน้อยเหมือนผม
หากท่านมีโอกาสไปที่จังหวัดอุดรธานี ลองแวะไปที่อำเภอโนนสะอาดนะครับ หากท่านได้แวะที่ตลาดซื้อของแล้ว ท่านลองสังเกตดูว่ามีคนใช้นิ้วนับเลขแบบที่ท่านไม่ค่อยได้พบเห็น นั่นแหละครับ ลูกศิษย์ของคุณครูทองสา ชินฝั่น

บทความวิจารณ์นี้ขออุทิศให้กับคุณครูผู้ที่อยู่ในความทรงจำของผม และเพื่อน พี่ น้องโรงเรียนบ้านโนนสำราญ

ไม่มีความคิดเห็น: