วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

บทวิจารณ์ - วิจารณ์วรรณกรรมเรื่อง “ทางช้างเผือก (มานะ มานี ปิติ ชูใจ)”

เรื่องทางช้างเผือก (มานะ มานี ปิติ ชูใจ) เป็นผลงานของ อาจารย์ รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ที่นำตัวละครมานะ มานี ปิติ ชูใจ และพองเพื่อน โลดแล่นในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ของกระทรวงศึกษาธิการในอดีต และอยู่ในความทรงจำของผู้ที่เคยเรียน
พวกเขาเติบโตขึ้นตามวัยทุกปีพร้อม ๆ กับเรา เรื่องราวสนุกสนานที่ได้อ่าน กลายเป็นความทรงจำอันแสนประทับใจที่ยากจะลืมเลือน หลายสิบปีผ่านไป อยากรู้ไหมว่า เพื่อนเก่าของพวกเราเติบโตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง มานะ มานี ยังคงน่ารัก มองโลกในแง่ดี หรือจะกลายเป็นหนุ่มสาวยุคใหม่ผู้แคล่วคล่อง เจ้าโต และสีเทา จะยังมีชีวิตอยู่หรือจากลาพวกเราไปแล้วตามกาลเวลา
เพื่อให้เรื่องราวเข้ากับยุคสมัย อาจารย์ รัชนี ศรีไพรวรรณ จึงได้เพิ่มเติมเหตุการณ์ปัจจุบันและตัวละครใหม่ๆเข้าไปในเรื่อง ในวันนี้ความทรงจำดีๆที่มีต่อเพื่อนเก่าอย่างมานะ มานี ปิติ ชูใจ และพองเพื่อน กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง พวกเขาเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนและบอกสารทุกข์สุขดิบให้เพื่อนเก่าอย่างพวกเราได้หายสงสัยและหายคิดถึงกันเสียที ได้กลายเป็นหนังสือเรื่องทางช้างเผือก (มานะ มานี ปิติ ชูใจ)
ทางช้างเผือกเริ่มเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครที่สำคัญแต่ละตัว โดยมี มานี ชูใจ และปิติ พูดคุยกัน พร้อมๆกับเล่าเรื่องของตัวละครอื่นๆไปด้วย เป็นการปูพื้นของเรื่องว่ามีใครบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร สามารถทำให้ผู้อ่านเชื่อมโยงความสัมพันธ์ขอตัวละครได้อย่างไม่สับสน
ผู้เขียนดำเนินเรื่องเรียบเรียงเหตุการณ์ตามปฏิทิน คือ เริ่มตั้งแต่มานี เริ่มรู้จักกับชูใจ ปิติ และเพื่อนคนอื่นๆ ตามลำดับ ตัวละครพบข้อขัดแย้งและเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาต่างๆ แต่ในที่สุดก็สามารถคลี่คลายปัญหาได้ในตอนจบ
ความน่าสนใจของเรื่องอยู่ที่การนำเหตุการณ์ในปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเรื่องได้อย่างลงตัว ถึงแม้ว่า เรื่องมานี มานะ จะเคยเป็นแบบเรียนภาษาไทยในอดีตทำให้ผู้อ่านนึกถึงบรรยากาศเก่าแบบชนบท แต่ผู้เขียนก็ผสมผสานรูปแบบเก่าๆของเรื่องให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ สะท้อนถึงภาพสังคมในปัจจุบันอย่างชัดเจน เช่น ชูใจเล่าเรื่องพี่สุมนให้มานีฟังว่า พี่สุมนไปเล่นเกมในรายการเกมเศรษฐี ปิติไปซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนให้เพชรในห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ เอ็มเป็นลูกคนเศรษฐี ใช้โทรศัพท์มือถือ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพง แต่มีนิสัยชอบขโมยของ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วผู้เขียนได้เพิ่มสีสันของเรื่องด้วยการนำสิ่งเร้นลับ ความเชื่อ เสริมไว้ในเรื่องด้วย สังเกตได้ว่าตัวละครจะมีความเชื่อ เคารพกับสิ่งเร้นลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นยุคของเทคโนโลยี และความเจริญทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม ผู้อ่านได้สร้างจินตนาการไปกับเรื่องราวอัศจรรย์อภินิหารต่างๆไปพร้อมกับตัวละครในเรื่องได้ เช่น ในตอนที่มานีและเพื่อนๆได้พบกับหญิงชรา
ก็เกิดเรื่องประหลาดขึ้นมากมาย พวกเขาได้เห็นรุ้งลงมากินน้ำ บ่อดินสีต่างๆสวยงามดังสีรุ้ง เพชรนำดินมาปั้นเป็นพระพุทธรูปได้อย่างสวยงาม แต่ผลการพิสูจน์เนื้อดินไม่ปรากฏว่าเป็นดินชนิดใดเลยบนโลกนี้ เป็นต้น
ตอนที่กระตุ้นอารมณ์ของผู้อ่านหรือที่เรียกว่าจุดวิกฤต หรือจุดสุดยอดของเรื่อง เป็นเหตุการณ์ตอนที่วีระพยายามจะเข้าสำรวจบริเวณบ้านของเจ้าของเนคต้าวิลล์ แต่ถูกคนร้ายจับตัวได้และพาไปไว้ในอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตธนบัตรปลอม คนร้ายปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับวีระ จะฆ่าทิ้งดีไหม วีระทั้งตกใจและกลัวมาก แต่ในที่สุดเหตุการณ์ก็คลี่คลายลง ตำรวจบุกเข้ามาช่วยวีระได้สำเร็จ เจ้าของเนคต้าวิลล์ก็ถูกจับตัวไปดำเนินคดี เรื่องทั้งหมดสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของวีระและเอ็มที่คอยเป็นสายสืบให้กับตำรวจนั่นเอง
ผู้เขียนจบเรื่องแบบมีความสุข มานีและชูใจกลับมาพบกันอีกครั้ง เนื่องจากต้องไปร่วมงานแต่งงานของปิติเพื่อนรักในวัยเด็ก พวกเขาได้พบปะพูดคุยถึงสารทุกข์สุขดิบของกันและกัน ดูเหมือนว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จในชีวิต ยกเว้นวีระที่มีภรรยาไม่ดี กลายเป็นคนขี้เมา เสียสติไป เรื่องราวของทั้งหมดของพวกเขาได้สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านไม่ว่าจะหยิบขึ้นมาอ่านเมื่อใดก็ทำให้หวนรำลึกถึงความหลังเมื่อยังเป็นเด็กได้ดี
แก่นเรื่อง (Theme) ของเรื่องทางช้างเผือก ของอาจารย์ รัชนี ศรีไพรวรรณ มีลักษณะเป็นหลักการใช้ชีวิต คือ การกระทำและพฤติกรรมสามารถส่งผลถึงอนาคตได้ จะเห็นได้ว่าตัวละครเอกจะมีนิสัยดี ขยัน ตั้งใจเรียน รักเพื่อน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เป็นการสอนผู้อ่านทางอ้อมผ่านเรื่องราวของตัวละครว่าสิ่งใดควรและไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ตัวอย่าง จากตอนที่ปิติได้พบกับเอ็ม ขณะที่เอ็มกำลังขโมยท็อฟฟี่ใส่ปาก เอ็มชักชวนให้ปิติทำตาม เมื่อมานีและชูใจรู้ความจริงก็ต่อว่าและเตือนให้ปิติเลิกคบกับเอ็ม เพราะการขโมยของเป็นสิ่งไม่ดี อาจติดเป็นนิสัยได้
มุมมอง (point of view) หรือ กลวิธีในการเล่าเรื่องของเรื่องนี้ ผู้เขียนใช้วิธีเล่าในลักษณะผู้เล่าเรื่องไม่ปรากฏในฐานะตัวละครในเรื่อง (Narator a non-ticipant) คือ ผู้เล่าเรื่องจะไม่ปรากฏตัวในเรื่อง แต่เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจะถูกเสนอผ่านการกระทำ คำพูด และทรรศนะของตัวละครที่ถูกเอ่ยถึง โดยผู้ล่าเป็นผู้รู้แจ้ง ล่วงรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ ความคิด จิตใจ ของตัวละคร เช่น
ทุกคนนิ่งเงียบ นึกทบทวนถึงคำพูดของหญิงชราที่พูดกับตนราวกับเป็นคำทำนาย จันทรคิดด้วยหัวใจอิ่มเอมเป็นสุข เทวดาองค์ไหนหนอจะมาบันดาลให้ขาเธอหายพิการชูใจงุนงงสงสัยยิ่งนักใครที่อยู่ในหัวใจของเธอ และอีกสามปีจะได้พบเขาผู้นั้นแม่และพ่อของเธอก็ตายไปแล้ว พี่สุมนก็ไม่ใช่คนที่เธอจะคิดถึงใจจดใจจ่อสักเท่าไร ยิ่งคิดชูใจก็ยิ่งกลุ้ม
งานเขียนเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยความต้องการของนักเรียนในอดีต ที่มีความคิดถึงให้เพื่อนๆที่เติบโตมาด้วยกัน ทำให้อาจารย์ รัชนี ศรีไพรวรรณ ต้องนำเรื่องราวของ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ฯลฯ มาเล่าต่ออีกครั้ง
เรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นในหนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนในแบบการเล่าเรื่องราวที่มีความเรียบง่าย ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ในงานเขียนได้ แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยรู้จักกับ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ฯลฯ มาก่อน ก็สามารถเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้ เป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัยและน่าสะสม ไม่แน่...ในอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าเราอาจแนะนำเพื่อนเก่าของเรา มานะ มานี ปิติ ชูใจ ฯลฯ ให้รู้จักกับลูกหลานของเราก่อนที่พวกเขาจะเข้านอนก็เป็นได้